เลือกภาษา:
ความรู้เพื่อสุขภาพ

โนโรไวรัส(Norovirus) ตัวการท้องเสียในเด็ก

รพ.ธนบุรีทวีวัฒนา


โรคติดเชื้อทางเดินอาหาร (ท้องเสีย, อุจจาระร่วง, ลำไส้อักเสบ) เกิดขึ้นได้จากเชื้อหลายชนิด แต่การติดเชื้อไวรัสเป็นสาเหตุส่วนใหญ่ของโรคติดเชื้อทางเดินอาหารในเด็ก ซึ่งเดิมเชื้อไวรัสที่พบบ่อยที่สุดคือเชื้อไวรัสโรต้า รองลงมาได้แก่ โนโรไวรัส (Norovirus) เอนเทอโรไวรัส (Enterovirus) และอดีโนไวรัส (Adenovirus) ปัจจุบันมีการใช้วัคซีนป้องกันไวรัสโรต้า ซึ่งพบการติดเชื้อจากไวรัสโรต้าลดลง ทำให้พบการระบาดจากเชื้อโนโรไวรัสได้บ่อยที่สุดแทน

“Norovirus” หรือชื่อเดิมว่า Norwalk virus การติดเชื้อไวรัสชนิดนี้จะเกิดขึ้นจากการรับประทานอาหาร น้ำดื่มที่มีเชื้อนี้ปนเปื้อน หรือผ่านการสัมผัสกับพื้นผิวที่มีการปนเปื้อน เช่น จาน ชาม ช้อน นั่นเอง

ไวรัสนี้มีระยะฟักตัว 12 – 48 ชั่วโมง มีความคงทนในสิ่งแวดล้อมมาก น้ำยาฆ่าเชื้อต่างๆ ที่ใช้อยู่ รวมทั้งแอลกอฮอล์ไม่สามารถที่จะฆ่าเชื้อได้ หลักการทำความสะอาด ด้วยวิธีใช้น้ำและสบู่ล้างมือ ล้างมือนานกว่า 20 วินาที ทำความสะอาดให้มากที่สุด โดยใช้น้ำชะล้าง เพื่อทำให้ไวรัสเจือจางไปให้มากที่สุด และทำความสะอาดเครื่องใช้ด้วยน้ำยาที่มีส่วนผสมของคลอรีน

อาการที่พบได้

คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลวเป็นน้ำ  ปวดท้อง  ปวดศีรษะ  มีไข้  ปวดเมื่อยตามตัว สำหรับรายที่มีอาการอาเจียนและถ่ายเป็นน้ำจำนวนมากอาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการขาดน้ำ เช่น ปากแห้ง, ลิ้นแห้ง, ปัสสาวะน้อย, ไม่มีแรง, เวียนศีรษะ, กระวนกระวาย, อ่อนเพลียมาก, ตรวจร่างกายมีชีพจรเบาเร็วมีความดันโลหิตต่ำ

การวินิจฉัย

ทำได้โดยการเก็บตัวอย่างอุจจาระส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ

การรักษา

  • ปัจจุบันยังไม่มียาเฉพาะเจาะจงในการขจัดเชื้อไวรัสนี้ การรักษาจึงเป็นการดูแลตามอาการที่เกิดขึ้น และส่วนใหญ่อาการต่างๆ จะดีขึ้นได้ในเวลา 3-4 วัน

  • ในรายที่อาการไม่รุนแรง ให้ดื่มน้ำเกลือแร่ ในกรณีที่มีอาเจียนและท้องเสีย ให้ทานอาหารอ่อน และให้ยาแก้อาเจียน ยารักษาตามอาการอื่นๆ

  • ในรายที่มีภาวะขาดสารน้ำค่อนข้างมาก หรือมีอาเจียน ปวดท้อง และถ่ายตลอด อาจเกิดอันตรายจากการขาดน้ำ ทำให้ช็อค ความดันโลหิตต่ำ ไตวาย และเสียชีวิตได้ จึงควรพิจารณาให้เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล ให้น้ำเกลือทางหลอดเลือด และติดตามดูอาการอย่างใกล้ชิด

  • ผู้ป่วยที่จะมีโอกาสเกิดอันตรายจากการขาดน้ำได้แก่ ผู้ป่วยเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัวต่างๆอยู่แล้ว จึงจำเป็นที่จะต้องเอาใจใส่เป็นพิเศษ โดยเฉพาะป้องกันไม่ให้เกิดอาการโดยการรับประทานอาหารปรุงสุก สะอาด ร้อน ล้างมือทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร

ป้องกันได้โดย

 การดูแลสุขอนามัย กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ จะช่วยลดปัญหาการติดเชื้อนี้ได้

ตามข้อมูลข้างต้น เนื่องด้วยโรคนี้ติดต่อได้ง่ายและเร็ว เพราะมักเกิดในสถานที่สาธารณะที่มีคนหมู่มาก จำเป็นที่ใช้ของด้วยกัน เช่น โรงอาหาร ห้องน้ำ เป็นต้นฯ  จึงควรป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อดังกล่าว ตามนี้

  • ล้างมือให้สะอาดบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำอย่างน้อย 20 วินาที หลังการเข้าห้องน้ำหรือเปลี่ยนผ้าอ้อมเด็ก และก่อนทำอาหารหรือกินอาหาร (อาจใช้เจลล้างมือได้แต่แนะนำให้ล้างมือด้วยสบู่จะดีที่สุด)

  • หลีกเลี่ยงน้ำและอาหารที่ไม่สะอาด เพราะเชื้อจะสามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะในน้ำได้นาน

  • ล้างผัก ผลไม้สด ให้สะอาด ทำหอยนางรมหรือหอยชนิดอื่นให้สุกก่อนกิน

  • ทิ้งเศษอาเจียน อุจจาระอย่างระมัดระวังโดยใช้ผ้าชุปน้ำหมาดๆซับไม่ให้ฟุ้งกระจายในถุงพลาสติก

  • ผ้าอ้อมหรือเสื้อผ้าที่เปื้อนอุจจาระ แยกเสื้อผ้าคนป่วยซักต่างหากและต้องรีบซักให้สะอาดโดยเร็วหรือทิ้งให้เหมาะสม

  • เช็ดทำความสะอาดพื้นที่ปนเปื้อนด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อที่มีส่วนผสมของคลอรีน

  • ผู้ป่วยต้องงดการประกอบอาหาร เพราะสามารถแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้หลังจากมีอาการเป็นระยะเวลา 3 วัน

  • เด็กควรงดไปโรงเรียนหรือสถานที่รับเลี้ยงเด็กเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ

  • หลีกเลี่ยงการเดินทางจนกว่าจะหายเป็นปกติ