กรดไหลย้อน โรคยอดฮิต พิชิตได้!!!!
โรคกรดไหลย้อนคือ?
เป็นภาวะที่เกิดจากการไหลย้อนของสารคัดหลั่งจากกระเพาะอาหาร หรือลำไส้เล็กส่วนต้น ซึ่งอาจจะเป็นกรด กรดอ่อน ด่าง และแก๊สไหลย้อนขึ้นไปในหลอดอาหาร ซึ่งอาจทำให้มีอาการอักเสบของเยื่อบุหลอดอาหาร หรือไม่มีการอักเสบของหลอดอาหารก็ได้ โดยจะต้องส่งผลให้คุณภาพชีวิตเปลี่ยนแปลงด้วย
อาการของกรดไหลย้อน มีอาการอะไรบ้าง?
อาการด้านหลอดอาหาร เป็นอาการที่พบได้บ่อย ได้แก่
- แสบร้อนบริเวณลิ้นปี่ และลามขึ้นมาที่หน้าอก มักมีอาการมากขึ้นหลังรับประทานอาหารมื้อหนักๆ การโน้มตัวไปข้างหน้า การยกของหนัก และการนอนหงาย
- เรอเปรี้ยว เนื่องจากมีกรดซึ่งเป็นน้ำรสเปรี้ยวหรือรสขมไหลย้อนขึ้นมาในปาก รายที่มีอาการมากอาจมีอาการกลืนลำบากได้
อาการนอกหลอดอาหาร ซึ่งพบได้ไม่บ่อยเท่ากับกลุ่มอาการแรก ได้แก่
- อาการทางด้านหู คอ จมูก ถ้ากรดไหลย้อนขึ้นมาในหลอดอาหารสูงขึ้นกว่าเดิม อาจทำให้มีอาการเจ็บคอเรื้อรัง หรือเสียงแหบเรื้อรังได้
- อาการทางระบบหายใจ มักมาได้ด้วยเรื่องหอบหืด หรือไอเรื้อรัง
- อาการทางหัวใจ มาด้วยเรื่องแน่นหน้าอกที่ไม่ได้เกิดจากโรคหัวใจ
- อาการในช่องปาก อาจมีฟันผุ หรือมีกลิ่นปากได้
แต่อาการเหล่านี้ต้องได้รับการรักษาและสืบค้นเพิ่มเติมจากแพทย์เฉพาะทางด้านสาขานั้นๆก่อน หากไม่พบสาเหตุที่อธิบายด้วยโรคดังกล่าวได้ชัดเจน จึงค่อยคิดถึงโรคกลุ่มอาการนอกหลอดอาหารที่เป็นสาเหตุมาจากกรดไหลย้อน
ปัจจัยเสี่ยงกรดไหลย้อน
ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อการทำงานของระบบย่อยอาหาร และพฤติกรรมการใช้ชีวิต ปัจจัยเหล่านี้สามารถเพิ่มโอกาสให้เกิดกรดไหลย้อนได้มากขึ้น ได้แก่
-
พฤติกรรมการรับประทานอาหาร
- การรับประทานอาหารปริมาณมากในมื้อเดียว
- การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง อาหารทอด หรืออาหารรสจัด
- การดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น กาแฟ ชา และน้ำอัดลม
- การดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
- การรับประทานอาหารใกล้เวลาเข้านอน ซึ่งทำให้กรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นได้ง่ายขึ้น
-
ภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน
- น้ำหนักตัวที่มากเกินไปสามารถเพิ่มแรงดันในช่องท้อง ทำให้กรดจากกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นไปในหลอดอาหารได้ง่ายขึ้น
-
การสูบบุหรี่
- การสูบบุหรี่สามารถลดการทำงานของกล้ามเนื้อหูรูดหลอดอาหารส่วนล่าง และกระตุ้นการผลิตกรดในกระเพาะอาหาร ทำให้มีโอกาสเกิดกรดไหลย้อนได้มากขึ้น
-
การตั้งครรภ์
- การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนและแรงดันในช่องท้องที่เพิ่มขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์สามารถทำให้กล้ามเนื้อหูรูดหลอดอาหารอ่อนแรงลงและเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดกรดไหลย้อน
-
อายุที่เพิ่มขึ้น
- เมื่ออายุมากขึ้น กล้ามเนื้อหูรูดหลอดอาหารอาจอ่อนแรงลง ทำให้กรดไหลย้อนเกิดขึ้นได้บ่อยกว่าในคนที่อายุน้อย
-
การใช้ยาบางชนิด
- ยาบางชนิด เช่น ยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ยาบางประเภทสำหรับความดันโลหิตสูง และยาสำหรับโรคซึมเศร้า อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดกรดไหลย้อน
-
ปัจจัยทางพันธุกรรม
- บางคนอาจมีความเสี่ยงในการเกิดกรดไหลย้อนมากขึ้นเนื่องจากมีประวัติครอบครัวที่เป็นโรคนี้
วินิจฉัยกรดไหลย้อนได้ย่างไร?
โดยปกติแล้วแพทย์สามารถวินิจฉัยโรคกรดไหลย้อนได้จากการซักประวัติและตรวจร่างกาย โดยเฉพาะถ้าผู้ป่วยมาด้วยอาการแสบร้อนกลางหน้าอก หรือเรอเปรี้ยว แพทย์สามารถให้การรักษาเบื้องต้นได้เลย โดยที่ไม่ต้องตรวจค้นพิเศษเพิ่มเติม แต่ในกรณีที่รักษาด้วยยาเบื้องต้นแล้วอาการไม่ดีขึ้น จึงมีความจำเป็นที่ต้องได้รับการตรวจค้นพิเศษเพิ่มเติม ได้แก่ การส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบน การกลืนแป้ง การตรวจวัดการบีบตัวของหลอดอาหาร และการตรวจวัดความเป็นกรดด่างในหลอดอาหาร เป็นต้น
สัญญาณอันตราย “โรคกรดไหลย้อน”
โรคกรดไหลย้อน ถ้าไม่รักษาและปล่อยทิ้งไว้ระยะยาว จะทำให้ทำให้เกิดผลแทรกซ้อนตามมาได้ ได้แก่ หลอดอาหารอักเสบรุนแรง จากการที่กรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นมาในหลอดอาหารเป็นระยะเวลานาน จนทำให้เยื่อบุหลอดอาหารอักเสบ และเกิดแผลในที่สุด จนบางครั้งทำให้หลอดอาหารตีบ ผู้ป่วยจะมาด้วยอาการกลืนลำบาก กลืนแล้วเจ็บคอ อาเจียนปริมาณมากหลังรับประทานอาหารทุกมื้อ อาจมีภาวะเซลล์เยื่อบุหลอดอาหารเปลี่ยนแปลงก่อนเป็นมะเร็งหลอดอาหาร (Barrett’s esophagus) และมะเร็งหลอดอาหาร ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงที่สุดของกรดไหลย้อน
สัญญาณเตือนอันตรายที่ทำให้ผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อนต้องได้รับการส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนต้น ได้แก่ อาการกลืนลำบากอาการ กลืนแล้วเจ็บคอ มีอาเจียนรุนแรง มีภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร เช่น ถ่ายดำ อาเจียนเป็นเลือดหรือถ่ายเป็นเลือด มีน้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ