ไข้ชักคืออะไร
ภาวะไข้ชักเป็นภาวะที่มีการชักในเด็ก อายุประมาณ 6เดือน ถึง 5 ปี โดยพบร่วมกับการมีไข้ และสาเหตุของไข้นั้นไม่ได้มาจากการติดเชื้อในระบบประสาทหรือสาเหตุอื่นๆ โดยชัดเจนเช่นสารเกลือแร่ผิดปกติ อาการที่พบคือเด็กจะมีอาการเกร็งทั้งตัว หรือเกร็งร่วมกับกระตุกทั้งตัวร่วมกับการมีไข้
อุบัติการณ์
เด็กทั่วไปมีโอกาสชักเวลาไข้สูงได้ 3-5% แต่เนื่องจากภาวะไข้ชักมักเป็นกรรมพันธุ์ โดยพบบิดา มารดามีประวัติไข้สูงแล้วชักได้ 10% และพบพี่น้องท้องเดียวกันชักขณะมีไข้สูงได้ถึง 9%
ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดไข้ชัก ครั้งแรก
1. มีประวัติไข้ชักในครอบครัว
2. ระดับของไข้ ยิ่งไข้สูงเท่าไรยิ่งมีโอกาสชักมากขึ้น โอกาสเกิดอาการชักซ้ำเนื่องจากไข้สูงพบประมาณ 30% มักเกิดภายใน 1 ปีแรก โอกาสชักซ้ำหลังจากการชักครั้งที่ 2 ประมาณ 48% โอกาสเป็นโรคลมชักหรือลมบ้าหมูภายหลังพบ 2 – 7 %
การรักษาภาวะไข้ชักควรทำอย่างไร
เมื่อเด็กชักต้องพยายามตั้งสติ อย่าตกใจเพื่อให้การดูแลเด็กได้อย่างเหมาะสม การรักษาที่ถูกต้องคือการพยายามปฐมพยาบาลลดไข้ รวมทั้งการปฐมพยาบาลอาการชัก
1. จัดท่านอนของเด็กให้เหมาะสม เพื่อป้องกันไม่ให้สำลักหรือกระทบกระแทก ได้แก่ ท่านอนตะแคงซ้าย หรือท่าตะแคงซ้ายกึ่งคว่ำให้ศีรษะต่ำกว่าส่วนตัว
2. ดูดเสมหะ(อาจใช้ลูกยางแดง) และจัดท่าเด็กให้หายใจสะดวก ถ้าชักนานอาจต้องช่วยหายใจ
3. หากเด็กมีอาการชักขณะที่รับประทานอาหารหรือมีเศษอาหารอยู่ในช่องปากควรล้วงเศษอาหารนั้นออกจากช่องปากเพื่อป้องกันภาวะอุดกลั้นของทางเดินหายใจระหว่างที่มีอาการชัก ไม่ควรพยายามทำให้เด็กอาเจียน หรือใช้ช้อนหรือไม้กดลิ้น, นิ้ว, เศษผ้า ยัดเข้าไปในปากเด็ก เพราะมีโอกาสทำให้เกิดอันตรายต่อช่องปาก และฟันเด็กมากยิ่งขึ้น และมีโอกาสที่ฟันจะหลุดหรือหัก และหลุดลงไปอุดหลอดลมและทำให้ปอดแฟบอันจะทำให้เกิดภาวะขาดออกซิเจนมากยิ่งขึ้น
4. ลดไข้ โดยการใช้ผ้าชุบน้ำก็อกหรือน้ำอุ่นเช็ดตัว
5. ให้ยาลดไข้พาราเซ็ตตามอลขนาด 10-15 มก. ต่อนน.1 กก.ทุก4-6 ชั่วโมง
6. การให้ยาระงับอาการชักขณะชัก (โดยมักจะให้ยาโดยบุคคลากรทางการแพทย์)
7. รักษาสาเหตุของไข้
เมื่อลูกน้อยมีไข้สูงเราจะการป้องกันไม่ให้เกิดอาการชักได้อย่างไร
1. เช็ดตัวเด็กบ่อยๆเช็ดให้ถูกวิธีและเช็ดนานพอจนกกว่าไข้จะลดลง
2. รับประทานยาพาราเซ็ตตามอลเพื่อลดไข้ได้ทุก4ชั่วโมงหากไม่มีประวัติแพ้ยา
3. หมั่นวัดไข้เด็กอยู่ตลอดเวลา ควรมีเทอร์โมมิเตอร์เพื่อใช้วัดไข้การใช้มือสัมผัสอย่างเดียวจะไม่สามารถประเมินได้
4. ทานยาป้องกันชัก (diazepam)ในเด็กที่เคยเป็นไข้ชักมาก่อน ซึ่งแพทย์จะพิจารณาให้ยาเป็นรายๆไป
ภาวะไข้ชักมีการพยากรณ์โรคดี ไม่มีรายงานผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากภาวะไข้ชักชนิดธรรมดา ไม่พบว่ามีความแตกต่างของระดับสติปัญญาระหว่างเด็กที่มีประวัติเป็นไข้ชักกับเด็กปกติรวมถึงไม่พบว่าไข้ชักจะมีผลเสียหรืออันตรายอย่างถาวรต่อเนื้อสมองด้วย แม้ว่าจะชักนานก็ตาม