เลือกภาษา:
ความรู้เพื่อสุขภาพ

โรคกระดูกพรุน ภัยเงียบของผู้สูงวัย

นพ.ไชยยันต์ ประชาศิลป์ชัย


โรคกระดูกพรุน ถือเป็นภัยเงียบอีกโรคหนึ่งคือไม่มีอาการในระยะแรก จนเมื่อมีกระดูกหักง่ายจากอุบัติเหตุที่ไม่รุนแรงที่พบบ่อยคือ กระดูกข้อมือ ข้อสะโพก กระดูกสันหลัง ในรายที่มีกระดูกสันหลังทรุดตัวก็จะมีส่วนสูงที่ลดลง

National Institute of Health (NIH) นิยาม ของโรคกระดูกพรุนดังนี้คือ 

“เป็นโรคของกระดูกที่มีความแข็งแกร่งของกระดูก (Bone strength) ลดลง ส่งผลให้เพิ่มความ เสี่ยงต่อกระดูกหัก” ความแข็งแกร่งของกระดูก ประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก คือความหนาแน่น ของกระดูก(Bone density) และคุณภาพของกระดูก (Bone quality)   
       
องค์การอนามัยโลก ได้กําหนดเกณฑ์ ในการวินิจฉัยโรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) โดยดูค่าความหนาแน่น ของกระดูก (Bone mineral density, BMD) ในประเทศไทย มีการศึกษา พบว่า ความชุกของโรคกระดูกพรุนในผู้หญิงหลังหมดประจำเดือน 20% ในช่วงอายุ 55-59 ปี 40% ในช่วงอายุ 60-69 ปี และเพิ่มขึ้นถึง 60% ในช่วงอายุมากกว่า 80 ปี ตามลำดับ
       
ในปัจจุบัน วิธีมาตรฐานที่ใช้ในการวินิจฉัยโรคกระดูกพรุน และสามารถใช้ทํานายความเสี่ยง ต่อการเกิดกระดูกหัก ได้แม่นยำที่สุด คือ การวัดความหนาแน่นของกระดูก ด้วยเครื่อง Dual Energy X-ray Absorptiometer (DXA)

         
ใครบ้างที่ควรได้รับการตรวจความหนาแน่นของกระดูก (BMD)
 • ผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป และผู้ชายที่มีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป
 • ผู้หญิงที่ถูกตัดรังไข่ทั้งสองข้าง หรือหมดประจำเดือนก่อนอายุ 45 ปี
 • ผู้ที่รับประทานยาหรือฉีดยาสเตียรอยด์เป็นระยะเวลานาน
 • มีประวัติคนในครอบครัวเคยกระดูกสะโพกหัก
 • ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนมีดัชนีมวลกาย (BMI) น้อยกว่า 19 กิโลกรัมต่อตารางเมตร
 • ผู้ที่มีประวัติกระดูกหักจากอุบัติเหตุที่ไม่รุนแรง (low energy trauma)
 • ผู้ที่ตรวจเอกซเรย์แล้วพบภาวะกระดูกบาง หรือกระดูกสันหลังผิดรูป
 • ผู้ที่สูบบุหรี่จัด หรือดื่มเหล้าจัด เป็นประจำ
 • ผู้ที่เป็นเบาหวาน เป็นโรคตับเรื้อรัง โรคไตเรื้อรัง เป็นโรคข้ออักเสบเรื้อรัง เป็นโรคการดูดซึมของระบบทางเดินอาหารผิดปกติ  โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง 
 • ผู้ที่มีส่วนสูงลดลงมากกว่า 4 เซนติเมตร หรือวัดได้ลดลงมากกว่า 2 เซนติเมตรต่อปี


การดูแลรักษา 
  
ประกอบด้วย การดูแลเรื่องอาหาร การให้แคลเซี่ยม วิตามินดี เสริม การออกกำลังกาย ได้รับแสงแดดที่เพียงพอ ปัจจุบันมียาใช้ในการรักษาช่วยเพิ่มมวลกระดูกและลดอัตราการเกิดกระดูกหักได้

และสิ่งที่สำคัญอีกประการคือ การป้องกันล้ม เช่น การตรวจเช็คสายตา การเดินและการทรงตัว รวมถึงการดูแลสภาพแวดล้อมภายในบ้านให้มีแสงสว่างเพียงพอ การจัดอุปกรณ์ราวจับในห้องน้ำ ซึ่งถึงแม้ว่าร่างกายของเราจะเสื่อมตามกาลเวลา แต่ถ้าเราตรวจพบตั้งแต่เนิ่นๆ ก็สามารถรักษาป้องกัน และสามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้