เลเซอร์ชนิดคาร์บอนไดออกไซด์
เลเซอร์ คือ เครื่องมือที่นำแสงความยาวคลื่นเดียว มาทำให้ลำแสงขนานกัน และเพิ่มพลังงานให้สูงพอที่จะมาใช้รักษาโรคผิวหนังได้ เลเซอร์ (LASER) เป็นตัวย่อมาจากคำว่า Light Amplification by Stimulated Emission of Radiation
เลเซอร์ชนิดคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2 Laser) เป็นการนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาเป็นตัวกลางในการทำให้เกิดแสงเลเซอร์ ที่มีความยาวคลื่น 10,600 nm ซึ่งมีคุณสมบัติในการดูดน้ำที่ผิวหนังได้ดี จึงถูกนำมาใช้ในการรักษาโรคต่าง ๆ
โรคหรือปัญหาที่เหมาะสมที่จะรับการรักษาด้วยเลเซอร์ชนิดคาร์บอนไดออกไซด์ ได้แก่
หูด ติ่งเนื้อ กระ กระเนื้อ ไฝ ขี้แมลงวัน ต่อมไขมันโต เนื้องอกของท่อของต่อมเหงื่อ (syringoma) รอยแผลเป็นที่เกิดจากการผ่าตัด และหลุมสิว เป็นต้น
ก่อนรับการรักษาด้วยเลเซอร์ชนิดคาร์บอนไดออกไซด์
จะต้องทำให้บริเวณที่จะรับการรักษาชา ซึ่งทำได้ 2 วิธี คือใช้ยาชาแบบแปะ กับฉีดยาชา ซึ่งมีความต่างกันตรงที่ถ้าใช้ยาชาแบบแปะจะต้องรอให้ยาชาออกฤทธิ์ประมาณ 45 นาที ถึงจะเริ่มรับการรักษาได้ แต่ถ้าฉีดยาชา ก็รับการรักษาได้ทันทีหลังฉีด ขณะที่ยิงเลเซอร์ผู้ป่วยก็จะไม่มีความรู้สึกเจ็บ หลังจากนั้นก็จะมีการทายาเพื่อป้องกันไม่ให้แผลติดเชื้อแบคทีเรีย และปิดลาสเตอร์กันน้ำ
การดูแลแผลหลังรับการรักษา
- ห้ามโดนน้ำ โดยเฉพาะใน 24 ชั่วโมงแรก ถ้าต้องล้างหน้า ควรล้างหน้าเบา
- ควรปิดลาสเตอร์กันน้ำไว้ 7 วัน แผลจะหายได้ดีโดยไม่ต้องเป็นแผลตกสะเก็ด
- ถ้าพลาสเตอร์หลุดก่อน 7 วัน ให้ล้างด้วยน้ำเกลือ ทายาป้องกันติดเชื้อแบคทีเรีย และปิดพลาสเตอร์กันน้ำใหม่
- หลีกเลี่ยงการโดนแสงแดด 2 – 4 สัปดาห์ เพื่อป้องกันโอกาสการเกิดรอยดำ
- มาพบแพทย์ตามนัด หลังทำ 7 วัน หรือถ้ามีปัญหา ก็ให้มาพบก่อนนัดได้
นพ. สิริวัฒน์ ภัทรากาญจน์
แพทย์ผิวหนัง
คลินิกผิวหนัง โรงพยาบาลธนบุรี ทวีวัฒนา