เลือกภาษา:
ความรู้เพื่อสุขภาพ

มะเร็งรังไข่

พญ.ณัฏฐินี ประชาศิลป์ชัย
บทความเรื่องมะเร็งรังไข่
     มะเร็งรังไข่เป็นมะเร็งนรีเวชที่พบได้บ่อยเป็นอันดับที่2 และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตเป็นอันดับ2 รองจากมะเร็งปากมดลูก เรามักไม่ค่อยตรวจพบมะเร็งรังไข่ระยะต้นๆ ส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักตรวจพบเมื่อเป็นมะเร็งรังไข่ระยะลุกลามแล้ว ทำให้อัตราการรอดชีวิตที่5ปีต่ำ (5-year survival rate) คือประมาณร้อยละ 30 
     ดังนั้นการหาวิธีป้องกัน และการตรวจคัดกรองที่มีความไวและความจำเพาะต่อการตรวจพบมะเร็งรังไข่ จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะการตรวจพบมะเร็งรังไข่ตั้งแต่ในระยะต้น มีอัตราการรอดชีวิตสูงถึง 90% เพราะฉะนั้นเรามาทำความเข้าใจถึงสาเหตุ และปัจจัยเสี่ยงของการเกิดมะเร็งรังไข่กันก่อน

อุบัติการณ์ : ผู้หญิงทุกคนมีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งรังไข่ได้ร้อยละ 1-1.5
สาเหตุ : เรายังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด มีหลายสมมติฐานที่อธิบายถึงการเกิดมะเร็งรังไข่ แต่มีบางปัจจัยที่พบว่าเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งรังไข่ได้ เช่น
  • ประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งรังไข่ โดยพบว่าถ้ามีคนในครอบครัว 1 คน เป็นมะเร็งรังไข่ ความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 5 (ผู้หญิงทั่วไปร้อยละ 1-1.5) และจะเพิ่มมากขึ้นไปอีก ถ้าตรวจพบการกลายพันธ์ของยีน ซึ่งเรียกกลุ่มโรคนี้ว่า Hereditary ovarian cancer ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งรังไข่มากที่สุด 
  • ไม่มีบุตร หรือมีบุตรยาก มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นประมาณ 2.7 เท่า ส่วนการคลอดบุตร และการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช่วยลดความเสี่ยงลงได้ถึงร้อยละ30
  • Polycystic ovarian syndrome มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นประมาณ 2.5 เท่า 
  • สูบบุหรี่ มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นประมาณ 2 เท่า (สัมพันธ์กับมะเร็งรังไข่บางชนิด)
  • โรคเยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นประมาณ 2-3 เท่า (สัมพันธ์กับมะเร็งรังไข่บางชนิด)
การป้องกันมะเร็งรังไข่
  • การกินยาคุมกำเนิด ปัจจุบันได้รับการรับรองว่าช่วยป้องกันมะเร็งรังไข่ได้ โดยจะช่วยลดความเสี่ยงได้อย่างน้อยร้อยละ30 และยิ่งกินยาคุมกำเนิดเป็นเวลานานก็จะช่วยลดความเสี่ยงได้มากขึ้นอีก การลดความเสี่ยงนี้ใช้ได้ผลดีทั้งสตรีทั่วไปและสตรีที่มีความเสี่ยงทางพันธุกรรม การกินยาควรปรึกษาสูตินรีแพทย์เพื่อดูว่ามีข้อห้ามต่อการกินยาคุมกำเนิดหรือไม่
  • การผ่าตัดท่อนำไข่และ/หรือรังไข่ทั้ง2ข้าง เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการป้องกันมะเร็งรังไข่ แต่ไม่แนะนำในสตรีทั่วไป เนื่องจากภาวะแทรกซ้อนจากการเข้าสู่วัยทองก่อนวัยอันควร จึงแนะนำให้ทำเฉพาะสตรีที่มีความเสี่ยงทางพันธุกรรม
การคัดกรองมะเร็งรังไข่
            ปัจจุบันยังไม่มีวิธีคัดกรองที่มีความแม่นยำมากพอในการตรวจหามะเร็งรังไข่ระยะต้น วิธีที่มีการศึกษาและแนะนำมากที่สุด คือ การตรวจเลือดเพื่อหาระดับ CA125 ร่วมกับการทำอัลตราซาวนด์ โดยเฉพาะในสตรีที่มีความเสี่ยงสูง แนะนำให้เริ่มตรวจคัดกรองเมื่ออายุ 30-35 ปี ถึงแม้ว่าการตรวจ CA125 ร่วมกับการทำอัลตราซาวนด์ จะยังไม่มีความแม่นยำพอที่จะลดอัตราการตายจากมะเร็งรังไข่ แต่เป็นวิธีที่ไม่ยุ่งยากมากนัก ส่วนการคัดกรองใหม่ๆที่จะมีความไวและความจำเพาะต่อมะเร็งรังไข่มากขึ้น เรายังต้องรอการศึกษาเพิ่มเติมต่อไปในอนาคต











 

พญ.ณัฎฐินี ประชาศิลป์ชัย
แพทย์เฉพาะทางด้านสูติ-นรีเวช