เลือกภาษา:
ความรู้เพื่อสุขภาพ

ต้อกระจก

พญ.วิไลพันธ์ ทวีรัตนศิลป์
ต้อกระจก เป็นโรคที่เกิดจากเลนส์แก้วตาเสื่อมสภาพจนมีความขุ่นมัวเกิดขึ้น ทำให้บดบังแสงที่จะผ่านเข้าไปในตา
แสงจึงส่งผ่านไปยังประสาทตาไม่เต็มที่ ทำให้การมองเห็นไม่ชัดเจนหรือมีอาการตามัวได้
 
สาเหตุของต้อกระจก
สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดต้อกระจกคือ อายุที่เพิ่มขึ้น พบว่าต้อกระจกสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนไม่ช้าก็เร็ว แต่จะพบมากในผู้สูงอายุ
 
ปัจจัยส่งเสริมที่ทำให้เกิดโรคต้อกระจกก่อนวัย
- การได้รับแสงอัลตราไวโอเลตเข้าตาเป็นเวลานานๆ
- โรคเกี่ยวกับตา เช่น ม่านตาอักเสบ ตาติดเชื้อ
- โรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ต่อมไทรอยด์ผิดปกติ
- การเกิดอุบัติเหตุที่ดวงตาหรือดวงตาได้รับการกระทบกระเทือนบ่อยๆ
- ความผิดปกติแต่กำเนิด เช่น เด็กแรกเกิดที่มารดาเป็นหัดเยอรมันขณะตั้งครรภ์
- การใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์
 
สัญญาณเตือนต้อกระจก
-ตามัว/มองเห็นไม่ชัดเจนโดยไม่มีอาการเจ็บปวด โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในที่มีแสงสว่างจ้า แต่กลับมองเห็นเกือบปกติในที่มืดสลัว
-มองเห็นภาพซ้อน เกิดจากความขุ่นของเลนส์แก้วตาไม่เท่ากัน การหักเหของแสงไปที่จอประสาทตาจึงไม่รวมเป็นจุดเดียว
- มองเห็นแสงไฟกระจาย โดยเฉพาะเวลาขณะขับรถในตอนกลางคืน
- เปลี่ยนแว่นตาบ่อย มองเห็นในระยะใกล้ดีขึ้นหรือไม่ต้องใส่แว่นตาในระยะมองใกล้
- เห็นฝ้าขาวบริเวณกลางรูม่านตา
การเตรียมตัวเพื่อพบจักษุแพทย์
การมาพบจักษุแพทย์ไม่ต้องมีความกังวล ไม่ต้องงดยา ไม่ต้องงดน้ำหรืออาหาร ขั้นตอนการตรวจไม่มีเจ็บปวด ไม่ควรขับรถมาเองหรือหาคนขับรถมาด้วยเนื่องจาก การหยอดยาขยายม่านตาทำให้สู้แสงไม่ได้ ตาพร่ามัว โดยเฉพาะการมองที่ใกล้ เป็นเวลา 5 ชั่วโมง การขยายม่านตาเพื่อตรวจว่าไม่มีโรคอื่นแทรกซ้อนทางตา ผู้ป่วยบางรายที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจขาดเลือด ผู้ป่วยเหล่านี้จักษุแพทย์บางท่านอาจขอให้ท่าน นำผลน้ำตาลในเลือดครั้งล่าสุดมาดู หรือ อาจให้ท่านงดยาละลายลิ่มเลือดก่อนมารักษาต้อกระจก
การตรวจประเมินก่อนรักษาต้อกระจก
โดยทั่วไปเมื่อแพทย์ลงความเห็นว่าสมควรผ่าตัด แพทย์จะตรวจตาอย่างละเอียด รวมทั้งวัดความดันตาและ ตรวจประสาทตา ให้แน่ใจว่ายังปกติดีอยู่หรือไม่ ถ้าประสาทตายังดีอยู่ หลังผ่าตัดก็จะมองเห็นได้ดี แต่ถ้าประสาทตาเสียแล้ว การผ่าตัดก็ไม่ช่วยให้ตาเห็นดีขึ้น
นอกจากนั้นแพทย์จะตรวจร่างกายทั่วๆไป เพื่อดูว่ามีโรคอื่นๆอันจะเป็นอุปสรรคในระหว่าง หรือหลังผ่าตัดหรือไม่ ซึ่งโรคที่สำคัญ ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคโลหิตจาง โรคปอด ซึ่งเมื่อเป็นโรคดังกล่าว จำเป็นต้องได้รับการรักษาให้ดีก่อนจึงค่อยทำผ่าตัด
ยังมีหลายคนที่เข้าใจว่า เป็นโรคเบาหวานผ่าตัดต้อไม่ได้ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด เป็นเบาหวานก็ทำผ่าตัดได้ แต่ต้องควบคุมเบาหวานให้ดีก่อน เพื่อลดความเสี่ยงเรื่องการติดเชื้อหลังผ่าตัด หากมีการอักเสบบริเวณตา เช่น กุ้งยิง เปลือกตาอักเสบ หรือ ถุงน้ำตาอักเสบ ก็ต้องได้รับการรักษาให้ดีก่อน เพราะดวงตาติดเชื้อได้ง่ายจากความต้านทานต่อการติดเชื้อมีน้อยกว่าอวัยวะอื่นๆ ดังนั้นหากมีการติดเชื้อใกล้เคียงกับบริเวณแผลผ่าตัด ทำให้มีความเสี่ยงติดเชื้อหลังผ่าตัดต้อกระจกได้
การรักษาต้อกระจก
การรักษาต้อกระจกทำได้โดยการผ่าตัดนำเลนส์แก้วตาที่ขุ่นออกแล้วใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าไปแทนที่ โดยวิธีการผ่าตัดที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน ได้แก่
- การสลายต้อกระจกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (phacoemulsification)