เลือกภาษา:
ความรู้เพื่อสุขภาพ

โรคปอดอักเสบในเด็ก

พญ.วนิดา พิสิษฐ์กุล

    

โรคปอดอักเสบในเด็ก

    หากพูดถึงปอดอักเสบหรือปอดบวม คนทั่วไปย่อมตระหนักถึงอันตรายและความรุนแรงของโรคนี้ โดยเฉพาะหากเกิดกับเด็กๆ ย่อมนำมาซึ่งความกังวลใจและทุกข์ใจของคุณพ่อคุณแม่อย่างมาก โรคนี้นับว่าพบบ่อยในประชากรเด็ก โดยเฉพาะเด็กเล็กที่อายุน้อยกว่า1ปี เด็กที่มีความพิการแต่กำเนิด คลอดก่อนกำหนด น้ำหนักแรกเกิดน้อยกว่า2.5กก. มีโรคหัวใจ มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือมีภาวะขาดอาหาร อาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อนที่รุนแรงจนถึงเสียชีวิตได้ ข้อมูลขององค์การอนามัยโรคพบว่า โรคปอดอักเสบพบเป็นสาเหตุของโรคติดเชื้อที่ทำให้เด็กเสียชีวิตที่พบบ่อยสุด พบว่าเด็กที่เสียชีวิตอายุน้อยกว่า 5ปีเกิดจากโรคปอดอักเสบ 15%

ดังนั้น เราควรมาทำความรู้จักโรคปอดอักเสบหรือปอดบวมในเด็กนี้ เพื่อที่จะได้ป้องกันและหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดโรคนี้กับบุตรหลาน หรือหากบุตรหลานเป็นโรคนี้ก็จะป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้

ปอดอักเสบหรือปอดบวมหรือนิวโมเนีย (Pneumonia) เป็นภาวะที่มีการอักเสบในบริเวณเนื้อปอดบริเวณหลอดลมฝอยส่วนปลาย ถุงลมและเนื้อเยื่อรอบๆถุงลม อันเกิดจากการติดเชื้อ ส่วนใหญ่เป็นเชื้อแบคทีเรียและไวรัสแตกต่างตามอายุอาจพบเชื้ออื่น เช่น วัณโรค หรือเชื้อราได้ พบว่าในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี สาเหตุของปอดอักเสบเกิดจากเชื้อไวรัส 42 %

เชื้อแบคทีเรียที่พบบ่อยในเด็กได้แก่ เชื้อนิวโมคอคคัส (Streptococcus pneumoniae), Gr.A Streptococcus, เชื้อฮิบ (Haemophilus influenzae type B) หรือเชื้อไมโครพลาสม่า (Mycoplasma pneumoniae)

เชื้อไวรัสที่พบบ่อยในเด็ก โดยเฉพาะ ได้แก่ RSV, ไข้หวัดใหญ่ ,human metapneumovirus(hMPV), Adenovirus, Parainfluenza virus

วิธีการติดต่อ

คุณพ่อคุณแม่คงสงสัยว่าเชื้อปอดอักเสบพวกนี้จะติดต่อมาสู่ลูกน้อยทางไหนบ้างนะคะ พบว่าเชื้อสามารถติดต่อได้หลายทางดังนี้

1.หายใจเอาเชื้อเข้าสู่ปอดโดยตรง ซึ่งเชื้อเหล่านี้จะอยู่ในละอองฝอยขนาดเล็กในอากาศซึ่งแพร่มาจากคนที่ไอจาม โดยเฉพาะบริเวณสถานที่ที่คนแออัด

2.สำลักเชื้อที่อยู่บริเวณทางเดินหายใจส่วนบนเข้าสู่ปอด เช่น สำลักน้ำลาย สำลักอาหาร โดยเฉพาะขณะนั้นมีการติดเชื้อทางเดินหายใจอยู่ก่อนแล้ว

3.ทางกระแสเลือด จากที่มีการติดเชื้อที่บริเวณอื่นก่อนแล้วแพร่กระจายมาสู่ปอด

4.ลุกลามจากอวัยวะใกล้เคียง เช่น ฝีที่ตับแตกเข้าสู่ปอด

5.แพร่ผ่านจากมือคนที่มีสารคัดหลั่งที่มีเชือโรคอยู่ ไปสู่อีกคน

อาการของโรคปอดอักเสบ

เด็กที่เป็นโรคนี้ จะมีอาการไข้ ไอมีเสมหะ อาจพบหายใจเหนื่อยหอบ หรือหายใจลำบาก มีปีกจมูกบาน ขณะหายใจมีชายโครง หรือหน้าอกบุ๋ม ปากเขียว หายใจดัง หรือเจ็บหน้าอก

โดยเฉพาะเราควรนึกถึงปอดอักเสบถ้าพบเด็กที่อายุน้อยกว่า2ปีที่มีที่มีอาการหายใจเร็วร่วมกับมีไข้มากกว่า 38 องศาเซลเซียสไว้เสมอ

แล้วเมื่อไหร่ที่เรียกว่าลูกน้อยมีอาการหายใจเร็ว องค์การอนามัยโรคกำหนดค่าหายใจเร็วของเด็กที่นับได้ใน 1 นาทีในไว้ดังนี้

  • เด็กแรกเกิดถึง 2 เดือน หายใจเร็วกว่า 60 ครั้ง/นาที

  • เด็กอายุ 2 เดือนถึง1ปี หายใจเร็วกว่า 50 ครั้ง/นาที

  • เด็กอายุ 1- 5ปี หายใจเร็วกว่า 40 ครั้ง/นาที

  • เด็กอายุ 5 ปีขึ้นไป หายใจเร็วกว่า 30 ครั้ง/นาที

(เป็นการนับการหายใจขณะที่เด็กอยู่นิ่ง หากเป็นไปได้ควรนับเต็ม 1 นาที โดยดูจากการเคลื่อนไหวของหน้าอก หรือท้อง)

การวินิจฉัย

จากอาการและอาการแสดงข้างต้น กุมารแพทย์ตรวจร่างกายอาจพบเสียงผิดปกติในปอด ซึ่งแพทย์อาจพิจารณาส่งตรวจรังสีวินิจฉัยเพื่อดูรอยโรคและความรุนแรงของโรคเพิ่ม รวมถึงการตรวจเลือด และตรวจเสมหะเพื่อหาเชื้อสาเหตุร่วมด้วย

การรักษา

โดยประเมินจากความรุนแรงของโรค ปอดอักเสบในระยะแรกหากยังมีอาการไม่รุนแรง แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะมาทานและมาดูแลตนเองต่อที่บ้านและนัดตรวจติดตามอาการซ้ำ โดยดูแลให้เด็กให้นอนพักผ่อน ทานอาหารที่มีประโยชน์ ดื่มน้ำมากๆ รวมทั้งทานยาตามแพทย์สั่ง เฝ้าสังเกตุอาการเปลี่ยนแปลงและอาการแทรกซ้อน หากเด็กมีอาการเหนื่อยหอบมากขึ้น ไข้สูงลอย อาการหายใจแย่ลง ซึม ขาดน้ำ หรือทานยาแล้ว2วันอาการยังไม่ดีขึ้น ควรรีบกลับไปพบแพทย์ทันที

การรักษาทั่วไป

1.ดื่มน้ำมากๆ หากทานไม่ได้หายใจหอบมากควรให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ และงดการรับประทานเพื่อป้องกันการสำลัก

2.ให้ออกซิเจน หากเหนื่อยมาก มีอาการปากเขียว หรือมีออกซิเจนในเลือดต่ำ

3.หากมีภาวะหลอดลมตีบ หายใจมีเสียงวี๊ดให้ยาขยายหลอดลม อาจทางการพ่นละอองฝอยหรือรับประทาน

4.ยาละลายเสมหะ กรณีเสมหะเหนียว ทานน้ำได้น้อย ในเด็กไม่ควรได้รับยากดการไอ เพราะอาจทำให้เสมหะไปคั่งในปอดมากขึ้นได้

5.ควรได้รับการบำบัดรักษาที่เหมาะสมโดยทำกายภาพทรวงอก เช่น เคาะปอด หรือการฝึกการไอให้ได้คุณภาพ เพื่อระบายเสมหะออกจากปอดและหลอดลม หากเอาเสมหะออกไม่ได้ควรได้รับการดูดเสมหะ โดยเฉพาะในเด็กเล็ก

การรักษาเฉพาะ ขึ้นกับเชื้อที่เป็นสาเหตุ หากเป็นเชื้อไวรัส นอกจากเชื้อไข้หวัดใหญ่แล้ว จะไม่มียารักษาที่เฉพาะเจาะจง กรณีเชื้อแบคทีเรีย แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะหรือยาแก้อักเสบ โดนพิจาราณายาจากอาการ ความรุนแรง เสมหะที่ตรวจพบ ซึ่งในเด็กมักจะตรวจเชื้อจากเสมหะได้ยาก แพทย์จะพิจารณายาโดยอาศัยข้อมูลทางระบาดวิทยาคลีนิคในแต่ละกลุ่มอายุเป็นหลัก

 

มาตรการการป้องกัน

เราควรจะให้ลูกน้อยหลีกเลี่ยงจากโรคนี้ได้อย่างไรบ้างนั้น เราควรปฏิบัติตามคำแนะนำนี้ค่ะ

1.หลีกเลี่ยงการไปในบริเวณสถานที่ที่คนแออัด โดยเฉพาะนำเด็กเล็กเข้าไป เช่น ศูนย์การค้า โรงภาพยนตร์

2.จัดสิ่งแวดล้อมให้สะอาดอยู่เสมอ หลีกเลี่ยงควันบุหรี่ ควันไฟ ควันจากท่อไอเสียรถ อากาศที่หนาวเย็นเกินไป

3.ควรหลีกเลี่ยงให้เด็กที่อายุน้อยกว่า 1 ปี หรือเด็กที่สุขภาพไม่แข็งแรงอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคปอดอักเสบ

4.แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ในเด็กอายุ 6เดือนขึ้นไป และ

แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคIPD (Invasive Pneumococcal Disease) ในกลุ่มเสี่ยงดังนี้ ผู้ที่ไม่มีม้ามแต่กำเนิดหรือได้รับการตัดม้ามออก มีโรตไตชนิดเนโฟรติก (Nephrotic Syndrome) มีโรคเรื้อรัง เช่น ไตวาย หัวใจ ปอด เบาหวาน หรือมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือเด็กที่ฝากเลี้ยงที่สถานรับเลี้ยงเด็กเล็ก

 

มาตรการการควบคุมโรค

1.แยกผู้ป่วยออกจากคนปกติ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อเพิ่ม

2.ทำลายเชื้อที่มากับสารคัดหลั่ง เช่นเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย

3.แนะนำให้ผู้ป่วยใช้หน้ากากอนามัย ในกรณีที่โตพอสมควร และแนะนำให้ปิดปากปิดจมูกเวลาไอ จาม

4.ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังสัมผัสเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย

5.หากไม่จำเป็นต้องนอนรักษาในโรงพยาบาล ควรให้ผู้ป่วยพักผ่อนอยู่กับบ้านอย่างน้อย 2-3 วันซึ่งเป็นช่วงที่แพร่เชื้อได้สูง

 

จากความรุนแรงของโรคปอดอักเสบนี้ คุณพ่อคุณแม่ควรจะให้ลูกหลีกเลี่ยงการเป็นโรคนี้ได้ตามที่กล่าวมา ทั้งนี้การเลี้ยงดูลูกน้อยที่ดี การดื่มนมแม่เต็มที่โดยเฉพาะใน 6 เดือนแรกของชีวิต รวมถึงการได้รับประทานอาหารครบหมู่และมีประโยชน์ การพาลูกน้อยไปรับวัคซีนครบถ้วน การดูแลอยู่ให้ลูกน้อยอาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่สะอาดถูกสุขอนามัยอยู่เสมอ สอนลูกให้ล้างมือจนเป็นนิสัย หากลูกไม่สบายหมั่นสังเกตุอาการและนำลูกไปพบกุมารแพทย์เมื่อลูกมีอาการไม่ดีขึ้น ย่อมนำพาให้ลูกน้อยหลีกไกลจากโรคปอดอักเสบรวมถึงโรคติดเชื้ออื่น ๆ ได้ค่ะ

 

เรียบเรียงข้อมูล โดย พญ.วนิดา พิสิษฐ์กุล มกราคม2563

References

1.American academy of Pediatrics December ,2019

2.IDSOCIETY.ORG ; August,2011 (Pediatric infectious diseases society;PIDS and The Infectious Diseases Society of America;IDSA)

3.WHO January2020

4.สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย ; January 2019

5.ชมรมโรคระบบหายใจและเวชบำบัดวิกฤตในเด็กแห่งประเทศไทย;โรคปอดบวมในเด็ก ; 2019

6.Thaipediatris.org September,2019