โรคหัวใจในเด็ก เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรมองข้าม เพราะมีโอกาสเกิดขึ้นได้มากพอ ๆ กับโรคหัวใจในผู้ใหญ่ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงควรศึกษาเกี่ยวกับโรคหัวใจในเด็ก และหมั่นสังเกตอาการของลูกน้อยอย่างสม่ำเสมอ เพราะโรคหัวใจในเด็ก หายได้...หากรักษาอย่างทันท่วงที
โรงพยาบาลธนบุรี ทวีวัฒนา ได้รวบรวมข้อมูลที่คุณพ่อคุณแม่ควรรู้เกี่ยวกับโรคหัวใจในเด็กมาให้แล้ว ดังต่อไปนี้
ชนิดของโรคหัวใจในเด็ก
โรคหัวใจในเด็กแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ
-
โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
ตามสถิติแล้ว ทารกแรกเกิดเฉลี่ย 8 ใน 1,000 คน จะพบว่ามีอาการโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ซึ่งสามารถตรวจพบได้ตั้งแต่ในครรภ์ โรคที่พบเจอบ่อย เช่น ผนังกั้นห้องหัวใจมีรูรั่ว ลิ้นหัวใจรั่ว เส้นเลือดเกิน หรือเป็นโรคหัวใจชนิดซับซ้อน เป็นต้น ซึ่งหากตรวจพบเมื่อเด็กโตแล้ว อาจทำการรักษาได้ยาก อย่างไรก็ตาม เด็กที่ป่วยด้วยโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดบางชนิด สามารถใช้ชีวิตได้ปกติ แต่อาจต้องระมัดระวังภาวะแทรกซ้อน เช่น ลิ้นหัวใจตีบเล็กน้อย รูในผนังหัวใจขนาดเล็ก เป็นต้น
สาเหตุของโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด มีดังนี้
-
ไม่สามารถระบุสาเหตุนี้ชัดเจน พบได้ถึงร้อยละ 80-85
-
โรคทางพันธุกรรม พบเป็นสาเหตุได้ประมาณ ร้อยละ 5-10 เช่น เด็กที่เป็นโรคกลุ่มอาการดาว์นอาจพบเป็นโรคหัวใจพิการได้ถึงร้อยละ 40
-
มารดาได้รับผลกระทบระหว่างตั้งครรภ์ เช่น การที่มารดาได้รับยาบางชนิด หรือมีการติดเชื้อหัดเยอรมันในขณะตั้งครรภ์ โดยเฉพาะในช่วงอายุครรภ์ 3 เดือนแรก
-
โรคหัวใจที่เกิดขึ้นภายหลัง เกิดจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น
-
โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ มักเกิดจากเชื้อไวรัส ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะจนกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ในรายที่อาการรุนแรง อาจเสี่ยงหัวใจวายเฉียบพลัน และเสียชีวิตได้
-
โรคลิ้นหัวใจอักเสบจากการติดเชื้อ มักพบในเด็กที่เป็นโรคหัวใจอยู่แล้ว
-
ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ อัตราการเต้นช้าหรือเร็วเกินไป ส่วนใหญ่ในเด็กมักพบเป็นชนิดเต้นเร็วผิดปกติ มีอาการเป็นๆ หายๆ และอาจนำไปสู่ภาวะหัวใจวายและเสียชิวิตได้
-
โรคไข้คาวาซากิ มักเกิดในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี ทำให้เส้นเลือดหัวใจโป่งพอง และทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดไปเลี้ยงในระยะยาว
-
โรคหัวใจรูห์มาติก เกิดจากไข้รูห์มาติก ทำให้ลิ้นหัวใจรั่ว และ/หรือตีบ เกิดจากการรักษาโรคคออักเสบ
สัญญาณเตือน ลูกน้อยหัวใจผิดปกติ
โรคหัวใจในเด็กบางชนิดนั้นรุนนแรงจนอาจถึงขั้นทำให้เสียชีวิต หรือมีผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นสังเกตลูกน้อย หากมีอาการต่อไปนี้ ควรรีบเข้าพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยทันที
1. เหนื่อยง่าย หายใจหอบ
2. เล็บและริมฝีปากเปลี่ยนเป็นสีเขียวขณะดูดนม
3. น้ำหนักไม่ขึ้นตามเกณฑ์ เจริญเติบโตช้า หรือพัฒนาการทางกล้ามเนื้อช้า
4. หน้ามืด เป็นลม
5. เสียงหัวใจเต้นผิดปกติ ซึ่งสามารถตรวจโดยแพทย์เฉพาะทาง
5 โรคหัวใจเด็กยอดฮิต ที่พบบ่อย
1. ผนังกั้นห้องหัวใจส่วนล่างรั่ว (Ventricular Septal Defect : VSD)
2. เส้นเลือดหัวใจเกิน (Patent Ductus Arteriosus : PDA)
3. ผนังกั้นห้องหัวใจส่วนบนรั่ว (Atrial Septal Defect : ASD)
4. โรคลิ้นหัวใจตีบ (Pulmonary Stenosis : PS)
5. โรคหัวใจชนิดเขียว ที่พบบ่อย คือ Tetralogy of Fallot (TOF) เป็นภาวะที่มีความผิดปกติของหัวใจทั้งผนังหัวใจห้องล่างรั่ว และลิ้นหัวใจตีบเกิดขึ้นตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา โดยเฉพาะในไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์
การตรวจวินิจฉัยและรักษา
การตรวจวินิจฉัยโรคหัวใจในเด็ก ทำได้ดังต่อไปนี้
1. การใช้เครื่องวัดระดับออกซิเจน (Pulse Oxemeter) วัดปริมาณออกซิเจนในกระแสเลือดจากผิวหนัง สามารถตรวจคัดกรองโรคหัวใจได้อย่างแม่นยำ และสามารถตรวจได้ทั้งแต่แรกเกิด
2. การเอกซ์เรย์ทรวงอก (Chest X-ray)เพื่อดูขนาดหัวใจ และดูลักษณะของเส้นเลือดในปอด
3. การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) เพื่อดูจังหวะการเต้นของหัวใจความผิดปกติของขนาดห้องหัวใจ
4. การตรวจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูงหัวใจ (Echocardiogram) เป็นการตรวจเพื่อดูภายในหัวใจ และหลอดเลือด
ส่วนวิธีการรักษาโรคหัวใจในเด็กนั้นจะขึ้นอยู่กับชนิดของโรค และความรุนแรงของโรค ซึ่งการรักษาจะมีตั้งแต่การรักษาด้วยยา , รักษาโดยการผ่าตัด , รักษาด้วยการสวนหัวใจ , รักษาด้วยการจี้ทางเดินประจุไฟฟ้าที่ผิดปกติ (ในรายที่หัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะ) , การใส่กล่องกระตุ้นการเต้นหัวใจ (ในกรณีหัวใจเต้นช้าผิดจังหวะ) , การใส่กล่องช็อกไฟฟ้าอัตโนมัติ (ในรายที่หัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะชนิดรุนแรงถึงชีวิต) ส่วนในบางรายที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่กระทบการใช้ชีวิตประจำวัน ไม่จำเป็นต้องรับการรักษาใด ๆ เพียงแต่ควรระวังเรื่องภาวะแทรกซ้อนและควรติดตามการดูแลเป็นระยะห่าง ๆ โดยกุมารแพทย์โรคหัวใจ
คลินิกกุมารเวช
เปิดให้บริการ
อาคาร 2 ชั้น 2 ทุกวันเวลา 08.00-20.00 น.
อาคาร 1 ชั้น 1
วันอาทิตย์ – พฤหัสบดี 20.00 – 06.00 น.
วันศุกร์ – เสาร์ 20.00 – 08.00 น.
โทร 02-4872100 ต่อ 5228-5229