เลือกภาษา:
ความรู้เพื่อสุขภาพ

โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis)

นพ. สิริวัฒน์ ภัทรากาญจน์

     
โรคสะเก็ดเงินเป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อย ๆ โดยพบได้ประมาณร้อยละ 1-2 ของคนทั่วไป มีลักษณะเป็นผื่นนูนแดงและมีสะเก็ดสีเงินอยู่ด้านบน มักพบบริเวณข้อศอก หัวเข่า หลัง และหนังศีรษะ แต่อาจพบผื่นที่ผิวหนังส่วนอื่นของร่างกายก็ได้รวมทั้งที่เล็บ ถ้าผื่นสะเก็ดเงินเกิดขึ้นในบริเวณข้อพับต่าง ๆ เช่น รักแร้ ขาหนีบ ใต้เต้านมของผู้หญิง ผื่นจะมีสะเก็ดน้อยหรือไม่มีเลยและพื้นผิวค่อนข้างมัน ร้อยละ 80 ของผู้ป่วยจะเป็นผื่นแบบเรื้อรังเฉพาะที่


สาเหตุ
สาเหตุของโรคสะเก็ดเงินยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่พบว่ามีการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันอย่างผิดปกติต่อองค์ประกอบบางอย่างของผิวหนัง ทำให้มีการแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนังเร็วขึ้นกว่าปกติผื่นจึงหนาตัวขึ้น 

ปัจจัยทางพันธุกรรมก็อาจมีส่วนเกี่ยวข้อง พบว่าประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินจะมีญาติที่ป่วยเป็นโรคนี้เช่นเดียวกัน ปัจจัยอื่น ๆ ที่มากระตุ้นให้เกิดรอยโรคสะเก็ดเงินเพิ่มขึ้น เช่น ความเครียด การบาดเจ็บของผิวหนัง (รอยผ่าตัดผิวหนัง รอยแกะเกา เป็นต้น) อาการเจ็บคอที่เกิดจากเชื้อสเตร็ปโตคอคคัส และยาบางชนิด (พบได้น้อย)

อาการ
อาการผื่นผิวหนังเป็นได้หลายรูปแบบ ที่พบบ่อย คือ ผิวหนังอักเสบเป็นผื่นนูนแดง (erythematous plaque) ลอกเป็นขุย เป็น ๆ หาย ๆ ผู้ป่วยบางรายเป็นเฉียบพลันแล้วผื่นก็หายไป แต่บางรายก็เป็นผื่นเรื้อรัง ความผิดปกติอื่น ๆ ที่อาจพบได้ คือ ความผิดปกติที่เล็บ ข้ออักเสบ เป็นต้น ผู้ป่วยอาจมีอาการผิดปกติของเล็บหรือปวดข้อนำมาก่อน หรือเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับอาการผื่นที่ผิวหนัง


ผื่นสะเก็ดเงินที่พบจะมีลักษณะเป็นตุ่มหรือผื่นนูนสีแดง ขอบเขตชัดเจน มีขุยหรือสะเก็ดเงินปกคลุมสีขาวคล้ายเงิน (silvery-white scales) ปิดบนรอยผื่นสีแดง ผื่นมีหลายรูปแบบ อาจเป็นตุ่มกลมขนาดเล็กเท่าหยดน้ำ หรือผื่นกลมเท่าขนาดเหรียญ หรือผื่นนูนหนาขนาดใหญ่กว่าฝ่ามือ ขอบผื่นอาจหยักโค้ง บางรายเป็นผื่นหนาขนาดใหญ่ทั้งตัว

ผื่นสะเก็ดเงินชนิดอื่น ๆ ที่พบได้แต่น้อยกว่า ได้แก่ ผื่นในซอกพับ (inverse psoriasis), ผื่นสะเก็ดเงินแบบตุ่มหนอง (pustular psoriasis) เป็นต้น

ลักษณะการกระจายของผื่น ที่พบบ่อยมี 2 แบบ
- แบบแรก เป็นผื่นนูนขนาดเล็ก ๆ กระจายทั่วตัว (guttate psoriasis) มักเกิดในระยะเวลาสั้น ๆ พบบ่อยในเด็กหลังจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ผื่นชนิดนี้จะค่อย ๆ จางหายได้เองหลังได้รับการรักษาอาการติดเชื้อทางเดินหายใจให้หายไป แต่มีโอกาสกลับเป็นซ้ำอีก

- แบบที่สอง เป็นผื่นเรื้อรังเฉพาะที่ (psoriasis vulgaris หรือ plague type psoriasis) มักพบที่ ข้อศอก หัวเข่า หลัง สะโพก หนังศีรษะ เป็นผื่นขนาดใหญ่ ผื่นจะขยายค่อยเป็นค่อยไปและอาจหายได้เองแต่ช้า ซึ่งอาจต้องได้รับการรักษาที่เหมาะสม ผื่นสะเก็ดเงินเมื่อหายมักจะไม่เหลือรอย แต่ในบางรายเมื่อผื่นหายจะเป็นรอยดำ แต่สีผิวก็จะค่อย ๆ ปรับจนกลับมาเป็นปกติในภายหลัง


 

 


การรักษา
แนวทางการรักษาโรคสะเก็ดเงิน ขึ้นกับความรุนแรงของโรคดังนี้

• สะเก็ดเงินความรุนแรงน้อย หมายถึง ผื่นน้อยกว่า 10% ของพื้นที่ผิวทั่วร่างกาย (ผื่นขนาดประมาณ 1 ฝ่ามือเท่ากับพื้นที่ประมาณ 1%) ให้การรักษาโดยใช้ยาทา

• สะเก็ดเงินความรุนแรงมาก หมายถึง ผื่นมากกว่า 10% ของพื้นที่ผิวทั่วร่างกาย พิจารณาให้การรักษาโดยใช้ยารับประทาน หรือฉายแสงอาทิตย์เทียม หรืออาจใช้ร่วมกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา

วิธีการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยและญาติ
นอกจากการรักษาข้างต้นที่กล่าวมาแล้วนั้น การให้ความรู้ผู้ป่วยและญาติมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน การเข้าใจความจริงที่ว่าสะเก็ดเงินเป็นโรคไม่ติดต่อ ผู้ป่วยจะไม่ถูกรังเกียจจากคนรอบข้าง ญาติและคนใกล้ชิดควรเข้าใจและให้กำลังใจผู้ป่วย และเนื่องจากโรคสะเก็ดเงินเป็นโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยควรดูแลปฏิบัติตนให้ถูกต้อง จะช่วยควบคุมโรคให้สงบได้ ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นซึ่งได้แก่ ความเครียด การพักผ่อนน้อย และการดื่มสุรา รวมถึงยาบางชนิดสามารถกระตุ้นให้โรคกำเริบได้ เช่น ยาลดความดันโลหิตบางชนิด ยาทางจิตเวช (lithium) เป็นต้น สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงหรือการติดเชื้อ เป็นหวัด ในผู้ป่วยบางรายอาจทำให้ผื่นเห่อขึ้นได้ และผู้ป่วยควรรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ไปพบแพทย์ตามนัด เนื่องจากเป็นโรคนี้เป็นโรคเรื้อรังอาจต้องใช้เวลานานในการรักษา

วิธีการป้องกัน
เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด ทราบเพียงว่า เกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน ได้แก่ พันธุกรรม ความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน และปัจจัยกระตุ้นภายนอก ทำให้มีการแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนังเร็วผิดปกติ ดังนั้นการดูแลใส่ใจสุขภาพตนเองหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง ดูแลสุขอนามัยเพื่อลดการติดเชื้อต่าง ๆ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่สูบบุหรี่ พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียด ทำจิตใจให้สบาย น่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันตนเองให้ห่างไกลจากโรคสะเก็ดเงินและโรคร้ายอื่น ๆ


นพ. สิริวัฒน์ ภัทรากาญจน์
แพทย์ผิวหนัง
คลินิกผิวหนัง 
โรงพยาบาลธนบุรี ทวีวัฒนา