เกิดจากการติดเชื้อจาก Influenza virus ที่ระบบทางเดินหายใจ พบได้ทุกช่วงอายุ ในเมืองไทยพบการระบาด 2 ช่วงคือหน้าฝน(มิย.-กย.) และหน้าหนาว(ธค.-กพ.) แต่สามารถพบโรคนี้ได้ตลอดทั้งปี ไข้หวัดใหญ่มี 3 ชนิด ตามสายพันธุ์คือ A , B และ C เนื่องจาก ชนิด C พบได้น้อยและไม่รุนแรง ดังนั้นวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่จึงมีแค่สายพันธุ์ A และ B เท่านั้น
อาการ
หลังรับเชื้อประมาณ 1-4 วัน(เฉลี่ย 2 วัน) ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว อ่อนเพลีย มีน้ำมูกไหล เจ็บคอ ไอ(อาจไอนานถึง2สัปดาห์) อาจพบอาการอาเจียน เบื่ออาหารและถ่ายเหลวร่วมด้วย
โรคแทรกซ้อนของไข้หวัดใหญ่ ปอดอักเสบ หูอักเสบ หลอดลมอักเสบ ไซนัสอักเสบ ติดเชื้อแบคทีเรียซ้อน อาจพบโรคแทรกซ้อนรุนแรงเช่น สมองอักเสบ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ติดเชื้อในกระแสเลือดจนอาจเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็กที่อายุ < 2ปี, ผู้ใหญ่ที่อายุ > 65 ปี, หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่ทานยาแอสไพรินต่อเนื่องและ ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่นโรคหัวใจ โรคทางปอด โรคทางตับ โรคทางไต โรคทางสมอง โรคเลือด โรคมะเร็ง โรคธาลัสซีเมีย หรือเบาหวาน ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก รวมทั้งผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง โรคไข้หวัดใหญ่อาจทำให้อาการของโรคประจำตัวที่มีอยู่แย่ลงได้เช่นหอบหืดหรือโรคหัวใจเป็นต้น
การติดต่อ
ผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สามารถแพร่เชื้อได้ตั้งแต่ 1 วันก่อนมีอาการจนถึง 5-7 วันหลังมีอาการ เด็กเล็กหรือผู้มีภูมิคุ้มกันต่ำอาจแพร่กระจายเชื้อนานกว่า 7 วัน แพร่เชื้อมากที่สุดในช่วง3วันแรก ติดต่อโดยการแพร่กระจายของละอองฝอยทั้งขนาดใหญ่และเล็ก โดยการไอ จาม และมีผู้หายใจเอาละอองเข้าไปหรือการติดต่อโดยการสัมผัสสารคัดหลั่งเช่นน้ำลาย น้ำมูกผ่านจากผู้ติดเชื้อโดยตรงหรือจากสิ่งของที่มีสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อแล้วมาสัมผัสส่วนจมูกหรือปากของตนเอง พบว่าผู้ติดเชื้อสามารถแพร่เชื้อห่างจากตัวได้ไกลถึง 6 ฟุต ดังนั้นจึงพบการระบาดได้ตามโรงเรียน สถานเลี้ยงดูเด็กเล็ก สถานที่ทำงานรวมทั้งในชุมชนได้ง่าย
การวินิจฉัยโรค
ตรวจหาไวรัสโดยการแยกเชื้อจากคอหอยหรือสารคัดหลั่งจากจมูกหรือน้ำล้างโพรงจมูก โดยการทดสอบเร็ว( rapid test) หาแอนติเจนของไวรัส หากต้องการทราบสายพันธุ์อาจส่งตรวจพิเศษทางไวรัสเช่น PCR ได้แต่ค่าใช้จ่ายสูงและไม่จำเป็น และไม่เปลี่ยนแปลง
การรักษา
- ดูแลเหมือนผู้ป่วยหวัดทั่วไป ให้ยารักษาตามอาการ ให้ยาลดไข้ชนิด Paracetamol ห้ามให้Aspirin เนื่องจากอาจเกิดโรคแทรกซ้อนทางสมองชนิด Reye syndrome ได้ นอนพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำมากๆ ทานอาหารที่มีประโยชน์ หากอาการไม่ดีขึ้นควรพบแพทย์
- โดยทั่วไปจะหายเองได้ภายใน 1 สัปดาห์ถ้าไม่มีโรคแทรกซ้อน แม้ไม่ได้ยาต้านไวรัสก็ตาม แต่อาการไออาจนานถึง 2 สัปดาห์
- การให้ยาต้านไวรัส ได้แก่ ยากลุ่ม Oseltamivir(ทางรับประทาน) หรือ Zanamivir(สูดผงยาเข้าทางปาก) จะช่วยลดอาการของโรค ลดโรคแทรกซ้อนและอัตราการเสียชีวิตลงได้ ควรให้ยาภายใน 2 วันหลังมีอาการจึงได้ผลดี ให้ยาติดต่อกัน 5 วัน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงต่อโรครุนแรงที่กล่าวมาข้างต้น ในกลุ่มเสี่ยงหากผลตรวจไม่พบเชื้อแต่อาการเข้าได้กับไข้หวัดใหญ่ก็ควรให้ยาต้านไวรัสไปเลย
- ผู้ติดเชื้อที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ควรติดตามอาการอย่างใกล้ชิด อาการรุนแรงขึ้นควรพบแพทย์
- พิจารณาให้ยาต้านแบคทีเรียหากมีการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย เช่น ปอดอักเสบ
- พิจารณาเรื่องการรักษาตัวในรพ. ดังต่อไปนี้
6.2 เป็นผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อโรครุนแรง และไม่สามารถติดตามอาการใกล้ชิดแบบผู้ป่วยนอกได้
6.3 ตามดุลยพินิจของแพทย์เป็นรายๆ ที่สงสัยว่าอาจมีโรคแทรกซ้อนเช่น ปอดอักเสบ เป็นต้น
มาตรการป้องกันโรค
1.การป้องกันโรคที่ดีสุดคือการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ทุกปี ระยะเวลาที่ดีสุดคือก่อนมีการระบาดตามฤดูกาลคือ เดือนพฤษภาคม ซึ่งบ้านเราใช้วัคซีนสายพันธุ์ของซีกโลกใต้ โดยวัคซีนสายพันธุ์ของปีนั้นๆจะเข้ามาเมืองไทยประมาณปลายเมษายนถึงต้นพฤษภาคมพอดี วัคซีนอาจไม่ป้องกันการติดเชื้อได้ทั้งหมดโดยเฉพาะผู้สูงวัยแต่ช่วยลดความรุนแรงและโรคแทรกซ้อนได้
องค์การอนามัยโรคแนะนำผู้ที่ควรได้รับวัคซีนคือ หญิงตั้งครรภ์ ,เด็กอายุ 6เดือนถึง5ปี, ผู้ที่อายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป, ผู้ที่มีโรคเรื้อรังหรือโรคประจำตัว และบุคลากรทางการแพทย์
ศุนย์ป้องกันและควบคุมโรค (CDC) แนะนำให้ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่กับประชาชนทุกรายที่อายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป
ผู้ที่แพ้ไข่แบบรุนแรงไม่ควรรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่
2.กลุ่มเสี่ยงที่สัมผัสโรคใกล้ชิด อาจให้ยาต้านไวรัส(ตัวที่ใช้รักษา) เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
3. ให้สุขศึกษาแก่ประชาชนและบุคลากรสาธารณสุขเรื่องการดูแลอนามัยส่วนบุคคล รวมถึงการล้างมือ และมารยาทในการไอ จาม
มาตรการป้องกันการระบาด
1.แยกผู้ติดเชื้อออกจากคนทั่วไป เช่น หยุดไปโรงเรียนหรือหยุดงานประมาณ 7 วัน และควรแยกห้องนอนกับผู้อื่น
2.แยกภาชนะอาหาร แก้วน้ำ หลอดดูดน้ำกับผู้ติดเชื้อ หรือให้ใช้ช้อนกลางแทน ทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่หรืออาหารร้อน ทานอาหารที่มีประโยชน์ เน้นผัก ผลไม้ นม ไข่
3.แยกของใช้ส่วนตัว เช่น ผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดหน้า
4.ปิดปากและจมูกเวลาไอจามด้วยผ้าเช็ดหน้า หรือกระดาษชำระ แล้วทิ้งกระดาษชำระลงถังขยะทันที
5.แนะนำให้ผู้ติดเชื้อและผู้ที่ดูแลสวมหน้ากากอนามัย
6.หมั่นล้างมือบ่อยๆโดยเฉพาะหลังสัมผัสสารคัดหลั่ง โดยล้างด้วยน้ำสบู่หรือ แอลกอฮอล์เจล ทั้งผู้ติดเชื้อและผู้ที่ดูแล
7.หมั่นดูแลสุขอนามัยส่วนตัว นอนพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
8.หลีกเลี่ยงการไปในบริเวณสถานที่ที่คนแออัดและอากาศถ่ายเทไม่ดี จัดสิ่งแวดล้อมให้สะอาดอยู่เสมอ หลีกเลี่ยงควันบุหรี่ ควันไฟ ควันจากท่อไอเสียรถ
พญ.วนิดา พิสิษฐ์กุล เรียบเรียงจากข้อมูลของ CDC 2016, WHO 2016 และกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข