เลือกภาษา:
ความรู้เพื่อสุขภาพ

โรคกระดูกและข้อที่เกิดในเด็ก ภัยเงียบที่ไม่ควรเพิกเฉย

คลินิกกุมารเวช



โรคกระดูกและข้อที่เกิดในเด็ก เป็นอีกหนึ่งความกังวลใจของคุณพ่อคุณแม่ เพราะถ้าหากกระดูกมีความผิดปกติ หรือไม่แข็งแรง ก็จะทำให้ร่างกายของลูกน้อยไม่สมบูรณ์ตามไปด้วย โรงพยาบาลธนบุรี ทวีวัฒนา ทราบดีถึงความกังวลใจนี้ จึงได้รวบรวมโรคกระดูกและข้อที่มักเกิดในเด็กชนิดต่าง ๆ มาเพื่อให้คุณพ่อคุณแม่ได้เข้าใจถึงสาเหตุ รวมไปถึงวิธีรักษา เพื่อให้ลูกน้อยของคุณ เติบโตอย่างสมบูรณ์แข็งแรง
 

ประเภทของโรคกระดูกในเด็ก และวิธีรักษา

  1. โรคเท้าปุก

อาการของโรคเท้าปุกคือ เท้าข้างใดข้างหนึ่งมีลักษณะผิดรูปตั้งแต่ข้อเท้าลงไป โดยมีลักษณะเท้าจิกลงด้านล่าง ฝ่าเท้าบิดเข้าด้านในและหงายขึ้น ซึ่งโรคนี้สามารถตรวจเจอได้ตั้งแต่ทารกอยู่ในครรภ์ ควรทำการรักษาทันทีหลังคลอด การรักษาทำได้โดยการดัดเท้าเข้าเฝือก และการผ่าตัด

  1. โรคขาโก่ง

อาการของภาวะขาโก่งหรือขาฉิ่งคือ ขาทั้งสองข้างโค้งแยกจากกัน มักพบในเด็กอายุต่ำกว่า 18 เดือน โดยปกติอาการจะดีขึ้นเมื่อเด็กโตขึ้น แต่หากเมื่อถึงวัยหัดเดินแล้วเด็กยังขาโก่งอยู่ ควรเข้าไปพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและรักษา ซึ่งสามารถทำได้โดยการใส่เฝือก อุปกรณ์ดัดท่อ หรือผ่าตัด

  1. โรคสะโพกหลุด หรือสะโพกหลวม

อาการของสะโพกหลุดหรือสะโพกหลวม คือ หากลองตั้งเข่าเด็กขึ้น จะเห็นว่าเข่าข้างที่ข้อสะโพกหลุด จะอยู่ต่ำกว่าปกติ ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการเอ็กซเรย์ดูว่าสะโพกหลุดหรือสะโพกหลวมหรือไม่ และทำการรักษาโดยการใส่สายดึงรั้งข้อสะโพกหรือเฝือก หรือรักษาตามความเหมาะสมและดุลพินิจของแพทย์

  1. โรคเท้าแบน

ปกติแล้วเท้าของคนเราจะมีอุ้งเท้า ไม่เรียบแบนไปกับพื้น อาการของเด็กที่เป็นโรคเท้าแบนคือ เท้าไม่มีอุ้งเท้า แบนราบไปกับพื้น เด็กจะยืนไม่ค่อยได้ หรือทรงตัวบนเท้าลำบาก ควรรักษาโดยการควบคุมน้ำหนัก ใส่อุปกรณ์พื้นรองเท้า หรือทำกายภาพบำบัดบริหารกล้ามเนื้อเส้นเอ็นฝ่าเท้า

  1. โรคคอเอียง

อาการของโรคคอเอียงคือ คอของเด็กจะเอียงจากกึ่งกลางไปด้านใดด้านหนึ่ง ซึ่งอาจเกิดจากความผิดปกติของกระดูกคอ ควรเข้ารับการรักษาก่อนเด็กอายุครบ 1 ปี ซึ่งสามารถทำการรักษาได้โดย การยืดกล้ามเนื้อข้างคอที่หดสั้น หรือการผ่าตัดเพื่อแก้ปัญหากล้ามเนื้อหดสั้น

นอกเหนือจาก 5 โรคข้างต้นแล้ว ยังมีอีกหลายภาวะเกี่ยวกับกระดูกและข้อ ที่สามารถเกิดขึ้นได้ในเด็ก ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นสังเกตอาการของลูก หากพบความผิดปกติดังนี้ ควรเข้าไปพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยโดยเร็ว

วิธีสังเกตว่าลูกเป็นโรคกระดูกและข้อหรือไม่

  1. ลูกเดินไม่คล่อง

  2. รูปเท้าผิดปกติ

  3. ลูกร้องไห้งอแง แสดงท่าทีว่าไม่อยากเดิน

  4. แสดงอาการเจ็บเมื่อโดนจับหรือแตะ

  5. ขาหรือแขนทั้งสองข้างยาวไม่เท่ากัน